วิศวกรรมป่าไม้ เป็นสาขาวิชาหนึ่งที่ถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษาวิชาการป่าไม้มาตั้งแต่ เริ่มก่อตั้งโรงเรียนป่าไม้ที่จังหวัดแพร่ในปีพ.ศ.2479 จนแทบจะกล่าวได้ว่าวิศวกรรมป่าไม้นั้นเป็นจุดกำเนิดของการศึกษาวิชาการทางวนศาสตร์ในประเทศไทย เนื่องจากในสมัยก่อนป่าไม้ทางภาคเหนือของประเทศไทยอุดมไปด้วยไม้สัก การจะตัดไม้สักออกมานั้นจำเป็นต้องใช้หลักวิชาการทำไม้เข้าช่วย ต้องเรียนรู้วิธีการทำแผนที่ และจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีการสร้างถนนชักลากไม้ ตลอดจนการก่อสร้างสะพาน และที่พักในป่า
การศึกษาทางด้านวิศวกรรมป่าไม้ในปัจจุบัน ภาควิชาวิศวกรรมป่าไม้เป็นผู้รับผิดชอบจัดการเรียนการสอน หลักสูตรการศึกษาในสมัยก่อนอันได้แก่ หลักสูตรวนศาสตรบัณฑิต ที่ใช้เวลาเรียน 5 ปี มุ่งเน้นให้นิสิตเรียนรู้วิชาการป่าไม้เหมือนกันทุกคน ไม่มีการแยกสาขาวิชา จนกระทั่งปีพ.ศ.2521 คณะวนศาสตร์ได้จัดทำหลักสูตรระดับปริญญาตรีเป็นหลักสูตร 4 ปี วิทยาศาสตรบัณฑิต (วนศาสตร์) วิศวกรรมป่าไม้เป็นแขนงวิชาหนึ่งภายใต้สาขาวิชาเอกการจัดการทรัพยากรป่าไม้ จึงนับรุ่นของนิสิตสาขาวิศวกรรมป่าไม้รุ่นที่ 1 เป็นต้นมาaufblasbarer hindernisparcours
ต่อมาในปีพ.ศ.2529 คณะวนศาสตร์ทำการปรับปรุงหลักสูตร วิศวกรรมป่าไม้ยังคงเป็นแขนงวิชาเช่นเดิม แต่ได้ทำการเพิ่มเติมรายวิชาด้านการประยุกต์คอมพิวเตอร์ในทางป่าไม้ (Computer Application in Forestry) ให้นิสิตวนศาสตร์ได้ศึกษา จนถึงปีพ.ศ.2540 มีการปรับปรุงหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วนศาสตร์) ในระดับปริญญาตรีอีกครั้งหนึ่ง การศึกษาทางด้านวิศวกรรมป่าไม้ได้ยกระดับขึ้นเป็นสาขาวิชาเอก มีการจัดการสอนรายวิชาด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System, GIS) ระบบกำหนดตำแหน่งบนโลกด้วยดาวเทียม (Global Positioning System, GPS) และเทคโนโลยีสารสนเทศทางป่าไม้ เพิ่มเติมให้นิสิตได้ลงทะเบียนเรียนและในปีพ.ศ.2548 ภาควิชาวิศวกรรมป่าไม้ได้เปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วิศวกรรมป่าไม้) ในระดับบัณฑิตศึกษาขึ้นมาอีกหลักสูตรหนึ่งเพื่อให้ผู้ที่สนใจที่จะศึกษาทางด้านวิศวกรรมป่าไม้มีโอกาสศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น